▲ กลับด้านบน

แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา เรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

6 พ.ย. 60 เปิดอ่าน 23640 โดย น.ส.นิตยา ผาติโสภณ
  แก้ไข

แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน

ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา

เรื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


 

ประวัติวันอาสาฬหบูชา

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และ วันอาสาฬหบูชา เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

        วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา ตรงกับ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๔ ประการ ดังต่อไปนี้

๑.   เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาพุทธ

๒.  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “ปฐมเทศเทศนา” คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

      . เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ โดยภายหลังจากได้บรรลุโสดาบันแล้วจึงได้กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์จึงทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา    ในวันนั้น

เป็นวันที่บังเกิดสังฆรัตนะ ยังให้พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือมี "พระพุทธ พระธรรม          พระสงฆ์" 

เมื่อมีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรม ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ก็ครบถ้วนบริบูรณ์ คือ มิใช่เพียงแค่ตรัสรู้ธรรมลำพังเพียงพระองค์เดียวโดยมิได้สอนใครอย่าง      พระปัจเจกพุทธเจ้า



บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

พุทธประวัติในช่วงก่อน-หลัง ในการแสดงธัมมจักกัปวัตตนสูตร

เริ่มต้นจากในครั้งพุทธกาล หลังจากพระศาสดาตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ แล้วทรงเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขจากการหลุดพ้นเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ หลังจากนั้นทรงพระปริวิตกว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก หมู่สัตว์ที่ยังมีกิเลสหนายากที่จะรู้เห็นตามได้ ท้าวสหัมบดีพรหมเมื่อทราบความปริวิตกของพระองค์ จึงมาทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ที่มีธุลีในจักษุน้อย มีกิเลสน้อยยังมีอยู่

ท้าวสหัมบดีพรหมมาทูลอาราธนาให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ผู้ยังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภพสาม จึงทรงตรวจดูหมู่สัตว์ด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่มีกิเลสน้อยก็มี มีกิเลสมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี       มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่สอนง่ายก็มี สอนยากก็มี เหมือนดอกบัวที่เกิดและเจริญเติบโตในน้ำ บางพวกก็อยู่ในน้ำลึก บางพวกก็อยู่เสมอน้ำ บางพวกก็พ้นจากน้ำแล้ว คือ บางจำพวกยังไม่พร้อมที่จะบาน บางจำพวกก็พร้อมที่จะบาน เช่นเดียวกันกับหมู่สัตว์ที่พอสอนได้ก็มีอยู่ จึงทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม

    เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมกลับไปสู่พรหมโลกแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงดำริว่า  “เราจะแสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว” ทรงดำริต่อว่า “อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีกิเลสเบาบางมานาน หากได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ทั่วถึงธรรมได้เร็ว เราควรแสดงธรรมแก่ท่านทั้งสองก่อน”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาบุคคลที่จะรองรับธรรม
คืออาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ดาบสทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้ว

เทวดาตนหนึ่งได้มากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า   ดาบสทั้งสองนั้นได้สิ้นชีวิตแล้ว              พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรวจดูก็ทรงทราบว่า ดาบสทั้งสองนั้นสิ้นชีพแล้ว จึงทรงดำริว่า “ดาบสทั้งสองเป็นผู้ประสบความเสื่อมอย่างใหญ่หลวงแล้ว เพราะถ้าเขาได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ได้ตลอดทั้งหมดโดยฉับพลัน” ครั้นแล้ว  จึงทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้มีอุปการะแก่พระองค์มาก เพราะได้ตามมาอุปัฏฐากเมื่อครั้งก่อนตรัสรู้ จึงเสด็จไปโปรด ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้มีอุปการะแก่พระองค์มาก

ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงได้นัดหมายกันและกันว่า “ท่านทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมากกำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตร และจีวร ของพระองค์ เพียงแต่วางอาสนะไว้ก็พอ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จะประทับนั่งเอง”

    ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปถึง ด้วยพุทธานุภาพจึงทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์นั้นไม่ตั้งอยู่ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า
คนหนึ่งรับบาตร จีวร ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คนหนึ่งปูอาสนะ คนหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท คนหนึ่งวางตั่งรองพระบาท คนหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท หลังจากดูแลต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พวกปัญจวัคคีย์ ได้เรียกทักทายพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยไม่เคารพด้วยการระบุพระนาม และใช้คำว่า “อาวุโส” (คำว่า อาวุโส ในภาษาบาลี เป็นคำทักทายที่ผู้ใหญ่ ใช้เรียกผู้น้อยกว่า ซึ่งแตกต่างจากความหมายในภาษาไทย)

   เมื่อพวกปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสห้ามเหล่าปัญจวัคคีย์ว่า        “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า อาวุโส ดูก่อนท่านทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว พวกท่านจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอนจะแสดงธรรม พวกท่านปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์”

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “อาวุโสโคดม ที่ผ่านมานั้นท่านได้บำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด แต่ก็ยังไม่อาจบรรลุธรรมอันประเสริฐ    ก็บัดนี้ท่านเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจะบรรลุธรรมเป็น    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เล่า”

    เมื่อพวกปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ดูก่อนท่านทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบพวกท่านจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอนจะแสดงธรรม พวกท่านปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์” พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสต่อไปอีกว่า     “ดูก่อนท่านทั้งหลาย ถ้อยคำเช่นนี้เราไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน เราเพิ่งพูดในบัดนี้เท่านั้น”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

พวกปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ฟังถ้อยพระดำรัสยืนยันอย่างหนักแน่น จึงยินยอมเชื่อฟังและตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์    ตรัสถึงข้อปฏิบัติ ๒ อย่างที่บรรพชิต (นักบวช) ไม่พึงปฏิบัติ ได้แก่

      ๑. การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

      ๒. การทรมานตนเองให้ลำบาก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์

ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติผล

    พระพุทธองค์ทรงยกย่องทางสายกลาง คือ ข้อปฏิบัติที่พระตถาคตได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ และ อริยสัจ ๔ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยเหตุนี้เอง พระรัตนตรัยจึงได้บังเกิดขึ้นครบถ้วนเป็นครั้งแรก

วันอาสาฬหบูชาเป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้ว บรรดาเทวดา ทั่วทุกชั้นฟ้าก็บันลือเสียงสาธุการ ตั้งแต่ภุมมเทวาไปจนถึงชั้นพรหมโลก ต่างชื่นชมอนุโมทนา ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุได้ไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่ หาประมาณมิได้ก็สว่างรุ่งเรืองไปทั่ว สว่างกว่าแสงของเหล่าเทวดาทั้งมวล


ปัญจวัคคีย์ คือใคร?

        ปัญจวัคคีย์ คือ กลุ่มบุคคลซึ่งเคยเป็นนักบวชพราหมณ์ต่อมาจึงได้บวชเป็นพระสาวกชุดแรกในพระพุทธศาสนา มีทั้งหมด ๕ รูป ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ

แต่เดิมปัญจวัคคีย์เป็นนักบวชที่ออกบวชติดตามปรนนิบัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่เสด็จออกผนวชใหม่ ๆ ทั้งหมดเป็นชาวกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้ฟังปฐมเทศนาเป็นรุ่นแรก ได้เป็นภิกษุรุ่นแรก และได้เป็นพระอรหันต์รุ่นแรกในพระพุทธศาสนา

เฉพาะท่านโกณฑัญญะเป็นผู้เคยทำนายลักษณะพระพุทธเจ้าตั้งแต่ตอนประสูติใหม่ๆ ส่วนอีก      ๔ ท่าน เป็นบุตรของพราหมณ์ที่ทำนายลักษณะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่วมกับ ท่านโกณฑัญญะ เพราะมีความเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะต้องได้เป็นพระพุทธเจ้าจึงได้ออกบวชตาม

ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ พระพุทธองค์ได้แสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล ต่อมาได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะในด้านรัตตัญญู แปลว่า มีราตรีนาน (ผ่านคืนวันมายาวนาน) คือเป็นผู้รู้ธรรมก่อนใคร และได้บวชมานานก่อนผู้อื่นในพระพุทธศาสนา จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ที่เหลืออีก  ๔ ท่าน ให้บรรลุโสดาปัตติผลตามแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้

หลังจากนั้นในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ ชื่อว่า “อนัตตลักขณสูตร” คือสูตรที่ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ให้แก่พระปัญจวัคคีย์ฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนา ทั้ง ๕ องค์ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมกัน


เนื้อหา สาระ คำแปล และความสำคัญ

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรคืออะไร?

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ พระธรรมเทศนาบทแรกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทานแก่ปัญจวัคคีย์จนบังเกิดประจักษ์พยานแห่งการบรรลุธรรมเป็นพระอริยสาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นพระธรรมเทศนาอันเป็นแม่บทแห่งธรรมทั้งปวง ขับกงล้อแห่งธรรมให้เคลื่อนรุดหน้าไป เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นวัฏสงสารไปสู่ดินแดนอันเกษม คือ พระนิพพาน


สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

การที่ปฐมเทศนานี้ได้รับการขนานนามว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ดังกล่าว ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือ พระนิพพาน ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถ หรือที่เรียกว่า “จักร” นั่นเอง ดังนั้น
ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า “จักรธรรม” หรือ “ธรรมจักร”

ตามธรรมดา “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือดุม กำ และ กง ส่วน   “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบโพธิปักขิยธรรมเป็นดุม ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำ และอริยสัจ ๔ เป็นกง

สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ คือ การประกาศทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่เอียงไปทางกามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นการประกอบตนแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง ๕ และไม่เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยค อันเป็นการทรมานตนโดยหาประโยชน์มิได้ ซึ่งข้อปฏิบัติทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นข้อปฏิบัติอันกระทำเครื่องเห็น (ดวงตา) และเครื่องรู้ (ญาณ) ให้เป็นปกติ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม หรือรู้ดี เพื่อความดับตัณหา เพื่อพ้นไปจากข้าศึก คือ กิเลส เป็นทางของพระอริยเจ้าผู้ละจากสภาวะฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว  พึงปฏิบัติตามหนทางสายกลางนี้เท่านั้น  ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานี้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ

๑.    สัมมาทิฏฐิ

๒.   สัมมาสังกัปปะ

๓.   สัมมาวาจา

๔.   สัมมากัมมันตะ

๕.   สัมมาอาชีวะ

๖.    สัมมาวายามะ

๗.   สัมมาสติ

๘.   สัมมาสมาธิ

มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นแนวปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทำให้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย

๑.   ทุกขอริยสัจ คือ ทุกข์อย่างแท้จริง

๒.  ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง

๓.   ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง

๔.   ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง (อริยมรรค)

ญาณทัสสนะหรือปัญญาอันรู้เห็นในอริยสัจ ๔ นั้น มีรอบ ๓ อาการ ๑๒ คือ

อริยสัจจญาณ

ทุกขอริยสัจ

ทุกขสมุทัยอริยสัจ

ทุกขนิโรธอริยสัจ

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

สัจจญาณ

(ญาณหยั่งรู้อริยสัจตามสภาวะ)

ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ

ทุกข์

ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ

เหตุแห่งทุกข์

ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ

ความดับทุกข์

ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ

วิธีดับทุกข์

กิจจญาณ

(ญาณหยั่งรู้กิจที่ต้องทำในอริยสัจ)

เป็นสิ่งที่ควร
รู้เท่าทัน

เป็นสิ่งที่ควรละ

เป็นสิ่งที่ควร

ทำให้แจ้ง

เป็นสิ่งควรเจริญ

หรือปฏิบัติ

กตญาณ

(ญาณหยั่งรู้กิจที่กระทำแล้วในอริยสัจ)

ทรงกำหนดรู้แล้วซึ่งทุกข์

ทรงละแล้วซึ่ง

เหตุแห่งทุกข์

ทรงทำให้แจ้งแล้วซึ่ง

ความดับทุกข์

ทรงเจริญแล้วซึ่ง

วิธีดับทุกข์

















ญาณทัสสนะในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้วพระพุทธองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่

จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้น พบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ เป็นปฐมแล้ว มิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลยตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการเผยแผ่พระศาสนาโปรดสรรพสัตว์


บทสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร พร้อมคำแปล

เอวัมเม สุตัง
( ข้าพเจ้า ( คือพระอานนท์เถระ ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ )

เอกัง สะมะยัง ภะคะวา 
( สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า )

พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ฯ 
( เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี )

ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ 
( ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเตือนภิกษุปัญจวัคคีย์ ว่า )

เทวเม ภิกขะเว อันตา 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้ )

ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา 
( บรรพชิตไม่ควรเสพ )

โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค 
( คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามในกามทั้งหลาย นี้ใด )

หีโน  ( เป็นธรรมอันเลว )

คัมโม  ( เป็นของชาวบ้าน )

โปถุชชะนิโก  ( เป็นของคนมีกิเลสหนา )

อะนะริโย  ( ไม่ใช่ของพระอริยะ )

อะนัตถะสัญหิโต  ( ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ )

โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค 
( คือ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยลำบากตน นี้ใด )

ทุกโข  ( เป็นทุกข์ )

อะนะริโย  ( ไม่ใช่ของพระอริยะ )

อะนัตถะสัญหิโต  ( ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ )

เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น )

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา 
( อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง )

จักขุกะระณี ญาณะกะระณี 
( กระทำดวงตาให้เกิด ทำญาณเครื่องรู้ให้เกิด )

อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ 
( ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ )

กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้น )

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา 
( อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง )

จักขุกะระณี ญาณะกะระณี 
( กระทำดวงตาให้เกิด ทำญาณเครื่องรู้ให้เกิด )

อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ 
( ย่อมเป็นไป เพื่อเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ
เป็นอย่างไร )

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ 
( ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจาก ข้าศึก คือกิเลส นี้เอง )

เสยยะถีทัง  ( ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ )

สัมมาทิฏฐิ  ( ปัญญาเห็นชอบ )

สัมมาสังกัปโป  ( ความดำริชอบ )

สัมมาวาจา  ( วาจาชอบ )

สัมมากัมมันโต  ( การงานชอบ )

สัมมาอาชีโว  ( ความเลี้ยงชีวิตชอบ )

สัมมาวายาโม  ( ความเพียรชอบ )

สัมมาสะติ  ( ความระลึกชอบ )

สัมมาสะมาธิ  ( ความตั้งจิตชอบ )

อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้แลข้อ ปฏิบัติที่เป็นกลางนั้น )

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา 
( ที่ตถาคต ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง )

จักขุกะระณี ญาณะกะระณี 
( กระทำดวงตาให้เกิด ทำญาณเครื่องรู้ให้เกิด )

อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ 
( ย่อมเป็นไป เพื่อความเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ )

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ )

ชาติปิ ทุกขา  ( แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ )

ชะราปิ ทุกขา  ( แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ )

มะระณัมปิ ทุกขัง  ( แม้ความตายก็เป็นทุกข์ )

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา 
( แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ )

อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข 
( ความประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รักทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์ )

ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข 
( ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ )

ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง 
( ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ )

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ 
( ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ )

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แล เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น อย่างแท้จริง คือ )

ยายัง ตัณหา  ( ความทะยานอยากนี้ )

โปโนพภะวิกา  ( ทำให้มีภพอีก )

นันทิราคะสะหะคะตา  ( เป็นไปกับความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิน )

ตัตระ ตัตราภินันทินี  ( เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ )

เสยยะถีทัง  ( ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ )

กามะตัณหา  ( ความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ )

ภะวะตัณหา  ( ความทะยานอยากในความมี ความอยากเป็น )

วิภะวะตัณหา  ( ความทะยานอยากในความไม่มี ไม่อยากเป็น )

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แล เป็นความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ )

โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ 
( ความดับโดยสิ้นกำหนัด โดยไม่เหลือตัณหานั้นนั่นแหละใด )

จาโค  ( ความสละตัณหานั้น )

ปะฏินิสสัคโค  ( ความวางตัณหานั้น )

มุตติ  ( การปล่อยตัณหานั้น )

อะนาละโย  ( ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น )

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แล เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ )

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค 
( ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลสนี้เอง )

เสยยะถีทัง  ( ได้แก่ สิ่งเหล่านี้ คือ )

สัมมาทิฏฐิ  ( ปัญญาเห็นชอบ )

สัมมาสังกัปโป  ( ความดำริชอบ )

สัมมาวาจา  ( วาจาชอบ )

สัมมากัมมันโต  ( การงานชอบ )

สัมมาอาชีโว  ( ความเลี้ยงชีวิตชอบ )

สัมมาวายาโม  ( ความเพียรชอบ )

สัมมาสะติ  ( ความระลึกชอบ )

สัมมาสะมาธิ  ( ความตั้งจิตชอบ )

อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่เป็น ทุกขอริยสัจ )

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา
อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล อันเราพึงกำหนดรู้ )

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา
อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล  อันเราได้กำหนดรู้แล้ว )

อิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา
อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
                                          
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี้เป็น ทุกข์สมุทัยอริยสัจ )

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้ นั่นแล อันเราพึงละเสีย )

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหีนันติ เม ภิกขะเว 
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั่นแล อันเราได้ละแล้ว )

อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ
ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่เป็น ทุกขนิโรธอริยสัจ )

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ  จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ นั่นแล ควรทำให้แจ้ง )

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ  จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ นั่นแล เราทำให้แจ้งแล้ว )

อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ  จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา
อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ )

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง
อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั่นแล ควรให้เจริญ )

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ
เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ  จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง
อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  ก็ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั่นแล อันเราเจริญแล้ว )

ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิ
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างไร ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ซึ่งมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว )

เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก
สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ

( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้ยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ชอบ ไม่มีความตรัสรู้อื่นยิ่งกว่า ในโลก ที่เป็นไปกับด้วยเทวดา มาร พรหม
ในหมู่สัตว์ที่เป็นไปกับด้วยสมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ ไม่ได้ เพียงนั้น )

ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงอย่างไร ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ซึ่งมีรอบ ๓     มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว )

อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก
สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ
 
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงได้ยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ชอบ ไม่มีความตรัสรู้อื่นจะยิ่งกว่าในโลก ที่เป็นไปกับด้วยเทวดา มาร พรหม ในหมู่สัตว์ที่เป็นไปกับด้วย สมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ )

ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ 
( ก็แล ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา )

อะกุปปา เม วิมุตติ อะยะมันติมา ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ ฯ 
( ว่า ความพ้นวิเศษ ของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก )

อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ 
( พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสธรรมปริยายนี้แล้ว )

อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุง ฯ 
( ภิกษุปัญจวัคคีย์ ก็มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า )

อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิง ภัญญะมาเน 
( ก็แล เมื่อเวยยากรณ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอยู่ )

อายัสมะโต โกณฑัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ 
( จักขุ อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระผู้มีอายุโกณฑัญญะ )

"ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ฯ"

( ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งทั้งปวงนั้น มีอันดับไปเป็นธรรมดา" )

ปะวัตติเต จะ ภะคะวะตา ธัมมะจักเก 
( ก็ ครั้นเมื่อ ธรรมจักร อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว )

ภุมมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง  
( เหล่าภุมมเทวา ก็ยังเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า )

เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ ฯ 
(  นั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เป็นไปแล้ว
ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลกยังให้เป็นไปไม่ได้ ดังนี้ )

ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา จาตุมมะหาราชิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ 
( เหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ได้ฟังเสียงของเหล่าภุมมเทววาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )

จาตุมมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ 
( เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ฟังเสียงของเหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาแล้ว
ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )

ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ  ( เหล่าเทวดาชั้นยามา ได้ฟังเสียงของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )

ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
( เหล่าเทวดาชั้นดุสิต ได้ฟังเสียงของเหล่าเทวดาชั้นยามาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )

ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
( เหล่าเทวดาชั้นนิมมานรดี ได้ฟังเสียงของเหล่าเทวดาชั้นดุสิตแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )

นิมมานะระตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ 
( เหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ได้ฟังเสียงของเหล่าเทวดาชั้นนิมมานรดีแล้ว
ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )

ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา พรัหมะกายิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง 
( เหล่าพรหมที่เกิดในชั้นพรหมได้ฟังเสียงของเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่นขึ้น )

"เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ ฯ"     
( "ว่า นั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เป็นไปแล้ว
ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้เป็นไปไม่ได้ดังนี้ ฯ" )

อิติหะ เตนะ ขะเณนะ เตนะ มุหุตเตนะ ยาวะ พรัหมะโลกา สัทโท อัพภุคคัจฉิ ฯ 
( โดยขณะหนึ่ง โดยครู่เดียวนั้น เสียงได้ขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้ )

อะยัญจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ ฯ 
( ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ ได้หวั่นไหว สะเทือนสะท้าน ลั่นไป )

อัปปะมาโณ จะ โอฬาโร โอภาโส โลเก ปาตุระโหสิ  
( ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่ ไม่มีประมาณ ได้ปรากฏแล้วในโลก )

อะติกกัมเมวะ เทวานัง เทวานุภาวัง ฯ 
( ล่วงเทวานุภาพ ของเทวดาทั้งหลาย )

อะถะ โข ภะคะวา อุทานัง อุทาเนสิ 
( ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า )

อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญติ 
( โกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ )

อิติหิทัง อายัสมะโต โกณฑัญญัสสะ "อัญญาโกณฑัญโญ" เตววะ นามัง อะโหสีติ ฯ 
( เพราะเหตุนั้น นามว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" นี้นั้นเทียว ได้มีแล้วแก่พระโกณฑัญญะผู้มีอายุ ด้วยประการฉะนี้แล )


วิธีปฏิบัติขณะสวดมนต์

วิธีสวดมนต์ให้ดีที่สุดคือ ต้องสวดด้วยการให้จิตจดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ด้วยใจที่นอบน้อม อ่อนน้อม ศรัทธา และเชื่อมั่นในคุณธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำรวมกาย วาจา ใจ ประดุจนั่งอยู่เบื้องพระพักตร์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และควรจะสวดออกเสียงเพื่อทำกรรมทั้งสามให้สมบูรณ์ คือ มโนกรรม กายกรรม และวจีกรรมผลของกุศลจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับเรื่องภาษาของบทสวดมนต์ที่ใช้นั้น จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ ยิ่งรู้ความหมายของบทสวดมนต์ที่สวดด้วยยิ่งดี เพราะเท่ากับเป็นการเจริญปัญญาให้ถูกตรงได้ในอีกทางหนึ่งด้วย หากบุญเก่าส่งผลถึงพร้อมสามารถทำให้บรรลุธรรมขณะที่กำลังสวดมนต์เลยก็ได้


สวดมนต์อย่างไรให้ถูกวิธี?

วิธีออกเสียงที่ถูกต้องของบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

คำอ่านน่ารู้

เทวเม

อ่านว่า

ทะ-เว-เม

 

เสยยะถีทัง 

อ่านว่า

ไส-ยะ-ถี-ทัง

ทวา...

อ่านว่า

ทะ-วา

 

ปะริญเญยยันติ

อ่านว่า

ปะ-ริน-ไย-ยัน-ติ

ตัตระ

อ่านว่า

ตัด-ตระ

 

อิมัสมิญจะ

อ่านว่า

อิ-มัด-สะ-หมิน-จะ

ตัตรา

อ่านว่า

ตัด-ตรา

 

เวยยา

อ่านว่า

ไว-ยา

หีโน

อ่านว่า

ฮี-โน

 

กะระณัสมิง

อ่านว่า

กะ-ระ-นัด-สะ-หมิง

ปะหีนันติ

อ่านว่า

ปะ-ฮี-นัน-ติ

 

อายัสมะโต

อ่านว่า

อา-ยัด-สะ-มะ-โต

พรัหมะ

อ่านว่า

พรำ-มะ

 

โลกัสมินติ

อ่านว่า

โล-กัด-สะ-หมิน-ติ

พราหมะ

อ่านว่า

พราม-มะ

 

สุตวา

อ่านว่า

สุด-ตะ-วา

พรัหมุนา

อ่านว่า

พรำ-มุ-นา

 

เตววะ

อ่านว่า

ตะ-เว-วะ






ประโยชน์และอานิสงส์ของการสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

อานิสงส์ของการสวดธัมมจักกัปวัตตนสูตร                               

        ผู้สวดจะประสบแต่ความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม จะมีอานิสงส์ คือ เสียงจะไพเราะ มีทั้งดวงปัญญา มีอุปกรณ์ในการพูดและการเปล่งเสียงที่ดีลิ้นที่ใช้สัมผัสรสอาหารจะดี ฟันสวย ปากสวย กลิ่นปากจะหอมฟุ้งด้วย จะมีกลิ่นศีลกลิ่นธรรม เสียงจะไพเราะ จะมีเสียงที่ก้องกังวาน ไม่แหบ ไม่เครือ ไม่พร่า   หูฟังเสียงก็จะดี คือ หูจะไม่ตึง จะมีหูที่สวยงามและจะมีอุปกรณ์ฟังเสียงที่ดี จะได้ยินเสียงหยาบและละเอียด จนกระทั่งได้ยินเสียงทิพย์เลย

        ไม่เพียงแค่นั้น ดวงตาก็จะเห็นแต่สิ่งดีๆ เห็นอย่างตาทิพย์ และเห็นด้วยธัมมจักขุเลยทีเดียว       มือที่พนมในการสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจะสวยงามและมีนิ้วสวยกว่าลำเทียน มีมือเป็นทิพย์ เพราะพนมมือผ่านดวงใจบูชาธรรมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะหยิบจะจับอะไรก็เป็นสมบัติ ได้รับการเคารพนับถือกราบไหว้บูชา ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จะพบแต่เรื่องดีๆ

        ยิ่งมาสวดเป็นทีม จะมีพรรคมีพวก เมื่อมีพรรคมีพวก..ความสะดวกก็มีมีบริวารสมบัติ และพรรคพวกแต่ละคนก็จะมีศีลธรรม เก่งและดีทั้งนั้น ยิ่งชวนมาสวดเยอะๆ ก็จะมีพรรคพวกที่ดี

        นอกจากนั้น..การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรยังเป็นการรักษาไข้ใจได้ดีเป็นธรรมโอสถ คือ สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน ถ้าทั้งกินทั้งทา ไม่ต้องฉีดก็หายแล้ว หายหมดเลย ทั้งไข้กายและไข้ใจ...

โอวาทโดย คุณครูไม่ใหญ่



อานิสงส์ของการสวดมนต์

๑. ทำให้มีสุขภาพดี การสวดมนต์ด้วยการออกเสียง ช่วยให้ปอดได้ทำงาน เลือดลมเดินสะดวก ร่างกายก็สดชื่นกระปรี้กระเปร่า

๒. คลายความเครียด ในขณะสวดมนต์จิตจะจดจ่อกับบทสวด สมองจะปลอดโปร่ง ไม่คิดในเรื่องที่ทำให้เครียด จึงทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย

๓. เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย บทสวดมนต์แต่ละบทเป็นการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เมื่อสวดมนต์ไปก็เท่ากับว่าได้เพิ่มพูนศรัทธาความเชื่อเลื่อมใสในพระรัตนตรัยให้มั่นคงยิ่งขึ้น

๔. ขันติบารมีย่อมเพิ่มพูน ขณะที่สวดมนต์ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง เพื่อเอาชนะความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย รวมทั้งอารมณ์ฝ่ายต่ำที่จะเข้ามากระทบจิตใจทำให้เกิดความเกียจคร้าน ดังนั้น    ยิ่งสวดบ่อยๆ ความอดทนก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น

๕. จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ขณะที่สวดมนต์จิตจะจดจ่ออยู่กับบทสวด ไม่วอกแวกวุ่นวายไปในที่อื่น จึงมีความสงบเกิดสมาธิมั่นคง สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส งดงาม แม้เพียงระยะเวลาน้อยนิด ก็เป็นบุญกุศลประมาณค่าไม่ได้

๖. เพิ่มพูนบุญบารมี ขณะที่สวดมนต์จิตใจจะสะอาด ปราศจากกิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น จึงเป็นบ่อเกิดแห่งบุญบารมี เมื่อสั่งสมมากเข้าก็จะเป็นทุนสนับสนุนให้บรรลุผลตามที่ต้องการได้

๗. จิตใจอ่อนโยนมีเมตตา การแผ่เมตตาเป็นการมอบความรักความปรารถนาดีให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว เป็นอุบายกำจัดความโกรธให้เบาบางลงไป    พบแต่ความสุขสงบ

๘. เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การสวดมนต์เป็นการทำความดีทั้งทางกายคือการสละเวลามาทำทางวาจาคือการกล่าวคำสวดที่ถูกต้อง และทางใจคือการตั้งใจทำด้วยใจที่มั่นคง ย่อมเกิดสิริมงคลแก่ผู้สวดภาวนาทุกประการ

๙. เทวดาคุ้มครองรักษา ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำย่อมเป็นที่รักของเทวดา จะทำอะไรก็ตามหรือแม้แต่จะเดินทางไปที่ไหนๆ ก็ปลอดภัยจากอันตราย ประสบความสำเร็จเหมือนมีเทวดาให้พร

๑๐. จะทำให้มีสติและปัญญา การสวดมนต์เป็นการสั่งสมคุณความดี ทำให้มีสติและมีจิตสำนึกที่ดีในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะถ้าสวดพร้อมกับได้ทราบคำแปลก็จะเกิดสติปัญญานำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้

๑๑. มีผิวพรรณผ่องใสจิตใจชื่นบาน การสวดมนต์ด้วยการเปล่งเสียงเป็นการกระตุ้นเซลล์ผิวหนัง จะทำให้มีผิวพรรณผ่องใสใจเป็นสุข เพราะขณะที่สวดมนต์จิตจะตั้งมั่นในบุญกุศล ไม่คิดไปในเรื่องอื่น ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง

๑๒. พิชิตใจผู้คนให้รักใคร่ การสวดมนต์เป็นประจำจะทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตร ผู้ที่เป็นมิตรอยู่แล้วก็รักใคร่กลมเกลียวกันมากยิ่งขึ้นแม้คนที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันก็จะหันกลับมาคืนดีในที่สุด

๑๓. ทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย การสวดมนต์เป็นประจำจะทำให้รอดพ้นจากภัยอันตราย ในยามมีภัย ประสบวิบากกรรมร้ายที่จะมีมาถึงตัว เพราะจะทำให้มีสติอยู่ตลอดเวลา

๑๔. ครอบครัวเป็นสุขสดใส การสวดมนต์เป็นการสร้างความสุข และเกิดความสามัคคีในครอบครัว หากครอบครัวใดที่พ่อบ้านแม่เรือน สวดมนต์และสอนลูกหลานให้สวดมนต์เป็นประจำ         จะมีความสงบสุข ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข

การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่มีต่อความสามารถทางสติปัญญา ด้านการจดจ่อ ความจำของนักเรียน

        จากผลการเก็บข้อมูลการวิจัยกึ่งทดลอง โดยได้ทำการทดลองให้นักเรียนสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โดยศูนย์วิจัยเพื่อศีลธรรม สถาบันพัฒนาเยาวชนโลกโดยแบ่งนักเรียนเป็น ๓ กลุ่มกลุ่มละ ๑๐ คน คือ

กลุ่มที่ ๑ สวดสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง

กลุ่มที่ ๒ สวดวันละ ๑ ครั้ง

กลุ่มที่ ๓ สวดวันละ ๓ ครั้ง

        แล้วทำการเก็บผลทดสอบนักเรียน โดยการให้นักเรียนชมสื่อวีดิทัศน์ และทำแบบทดสอบความจำจากเนื้อหาสื่อที่ได้ดู จำนวน ๑๕ ข้อ โดยได้ทำการทดสอบครั้งแรกก่อนให้นักเรียนสวดมนต์ หลังจากนั้น ๖ สัปดาห์ จึงได้ทำการทดสอบด้วยวิธีการเช่นเดิมอีกครั้ง แต่เปลี่ยนสื่อวีดิทัศน์ที่มีเนื้อหาความยากใกล้เคียงกัน ผลปรากฏว่า

- นักเรียนกลุ่มที่ ๑ สวดสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ผลคะแนนทดสอบความจำเฉลี่ยก่อนการสวดใกล้เคียงกับคะแนนหลังการสวด

- นักเรียนกลุ่มที่ ๒ สวดวันละ ๑ ครั้ง ผลคะแนนทดสอบความจำเฉลี่ย เพิ่มมากขึ้น  ๑๒.๕%

- นักเรียนกลุ่มที่ ๓ สวดวันละ ๓ ครั้ง ผลคะแนนทดสอบความจำเฉลี่ย เพิ่มมากขึ้น  ๒๗.๔%

จึงสามารถพอสรุปได้ว่าการที่นักเรียนสามารถทำคะแนนได้มากขึ้น เป็นผลมาจากการที่เด็กมีสมาธิจดจ่อในการสนใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถจดจำเรื่องราวรายละเอียดที่เพิ่งผ่านไปได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการที่เด็กฝึกสมาธิ จดจ่อกับการสวดมนต์เป็นประจำนั่นเอง


ตัวอย่างของการสวดธัมมจักกัปวัตตนสูตรแล้ว

เกิดผลอย่างน่าอัศจรรย์

 

ผลจากการสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรในสถานศึกษา







การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่ประสบความสำเร็จในด้านการงาน





การสวดมนต์ กับผลการวิจัยของ ดร.มาซารุ เอโมโตะ

มีนักวิจัยหลายคนได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องการสวดมนต์หนึ่งในนั้นคือ "ดร.มาซารุ    เอโมโตะ" นักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่นำน้ำไปแช่แข็งปรากฏว่าผลึกน้ำที่ผ่านการสวดมนต์มีผลึกงดงาม    เปรียบเทียบกับน้ำที่ผ่านการพูดบ่นหรือด่าจะเป็นผลึกที่ไม่สวยงาม เพราะเสียงที่เกิดจากการสวดมนต์นั้นแฝงด้วยพลังที่ยิ่งใหญ่

หลังจากนั้นได้มีการทำวิจัยพบว่า เสียงจากบทสวดมนต์มีแรงสั่น สะเทือนไปเขย่าโมเลกุลของน้ำที่อยู่ในร่างกายให้เรียงตัวกันเป็นระเบียบ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกสามารถลำเลียงแก๊สออกซิเจนได้ดี จากปกติที่เลือดเกาะกันทำให้ไม่สามารถกระจายตัวจึงลำเลียงแก๊สออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ได้น้อย เมื่อลำเลียงแก๊สออกซิเจนไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆของร่างกายได้น้อยก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยเพราะเลือดลมเดินไม่ดี ร่างกายไม่สามารถทำการแลกเปลี่ยนของดี เช่น แก๊สออกซิเจน,สารอาหารกับของเสีย          เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และของเสียจากเซลล์ได้ ไม่สามารถเอาเลือดที่ใช้เลี้ยงร่างกายแล้วกลับมาฟอกที่ปอดได้ เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคหัวใจ




สรุปข่าว

หัวข้อ แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา เรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

แสดงความคิดเห็น